1.หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพภาคประชาสังคม
1.1 หลักสูตรความรู้เบื้องต้นการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Essentials for Becoming a Transformational Leader)
คำอธิบายหลักสูตร
ความรู้พื้นฐานสู่การเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างภาวะผู้นำ ทั้งในรูปแบบปัจเจกบุคคล ในระดับทีม และระดับภายนอก (หรือ ระบบ) โดยมีจุดมุ่งเพื่อนำเสนอแนวคิด วิธีการ และเครื่องมือ เพื่อช่วยให้คุณพัฒนาทักษะผู้นำในตัวคุณ และส่งเสริมภาวะผู้นำของผู้อื่น (ทั้งในและนอกองค์กร) เพื่อให้คุณทำงานบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้มากขึ้น
วัตถุประสงค์
1) เข้าใจรูปแบบภาวะผู้นำของ จุดอ่อนและจุดแข็ง
2) เพิ่มทักษะและศิลปะความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
3) กำหนดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และส่งเสริมภาวะผู้นำให้กับคนในองค์กร
โครงสร้างหลักสูตร/เนื้อหา
1) ทำความรู้จักภาวะผู้นำรูปแบบต่าง ๆ และเข้าใจภาวะผู้นำหลักในตัวคุณ
2) ขั้นตอนการพัฒนาความเป็นผู้นำในตัวคุณ
3) การสื่อสารอย่างผู้นำ การจูงใจคนและการเจรจา
4) การบริหารความขัดแย้ง
5) การบริหารและจุดประกายการเปลี่ยนแปลง
6) การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำในองค์กร
7) การให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง (coaching and mentoring) สนับสนุนการทำงาน
8) การสร้างทีม
9) การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และการเสริมภาวะผู้นำในองค์กร
1.2หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคประชาสังคม (ปปส.)
คำอธิบายหลักสูตร
แนวโน้มการพัฒนาประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาเพียงลำพังได้ฝ่ายเดียว จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมดังนั้นบทบาทของผู้นำภาคประชาสังคมจึงมีความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง ผู้นำภาคประชาสังคม จำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะการคิดวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และมีเครื่องมือในการทำงาน รวมทั้งมีความสามารถในการประสานพลังต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และสามารถเชื่อมประสานกับหน่วยงานทั้งในระดับนโยบาย พื้นที่ และท้องถิ่นด้วย
วัตถุประสงค์
-
มีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของนานาชาติ, ภูมิภาค, ประเทศ และท้องถิ่น
-
มีความรู้ความเข้าใจ ในกระบวนการ/ กลไกของแผนยุทธศาสตร์ของรัฐในระดับชาติ และระดับจังหวัด
-
มีทักษะสามารถประสาน เชื่อมโยงภาค เครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อสร้างประเด็นความสนใจร่วม
-
มีความรู้ ทักษะ ในการประเมินสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม (assessment) เพื่อนำไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์ และการประเมินผลกระทบยุทธศาสตร์
-
มีความสามารถในการรณรงค์ เชื่อมประสาน (advocate) ภาครัฐและเอกชน ในการนำเอายุทธศาสตร์ของภาคประชาสังคม ไปบูรณาการกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และกลุ่มจังหวัด
โครงสร้างหลักสูตร
1) พลวัตเศรษฐกิจ สังคมของโลก/ ภูมิภาค ประเทศ และท้องถิ่น การสำรวจสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคมของภูมิภาคประเทศ และท้องถิ่น เช่น การค้าเสรี การอพยพข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เขตเศรษฐกิจพิเศษ การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค และแนวคิดอื่น ๆ เช่น เสรีนิยมใหม่ แนวคิดท้องถิ่นจัดการตนเอง การกระจายอำนาจ และการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2) เครื่องมือสำหรับประเมินภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment) การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment) ตัวชี้วัดธรรมาภิบาลจังหวัด (Provincial Government Index) และเครื่องมือหรือตัวชี้วัดเศรษฐกิจ สังคมอื่นๆ โดยเน้น ความเข้าใจ และทักษะในการนำเครื่องมือเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
-
กระบวนการและกลไกในการจัดทำยุทธศาสตร์/ แผนระดับชาติและระดับจังหวัด/ กลุ่มจังหวัด
สำรวจและทำความเข้าใจกระบวนการและกลไกในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผน ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด เพื่อให้ภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงกระบวนการนำเสนอวาระของภาคประชาสังคม บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์และแผนในระดับประเทศ จังหวัด และกลุ่มจังหวัด นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ศึกษาเครื่องมีอในการกำหนดนโยบายและการติดตามนโยบายในระดับต่าง ๆ อย่างเช่นการกำหนดวาระทางนโยบายแบบมีส่วนร่วม บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน ธรรมนูญพลเมือง เป็นต้น
-
การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียและการประสานพลังเครือข่าย มีความเข้าใจและสามารถมารถวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder analysis) ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ให้สามารถมองเห็นผลประโยชน์ร่วมในบางเรื่อง มากกว่าการมองว่าเป็น ศัตรูหรือคู่แข่งในทุกเรื่อง นอกจากนี้ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เทคนิควิธีการสื่อสารใหม่ๆ เพื่อสานพลังเครือข่ายให้เกิดความเข้าใจระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย และเครือข่ายต่าง ๆ ผ่านช่องทาง Internet หรือ Mobile application
-
การรณรงค์วาระภาคประชาสังคมในท้องถิ่น คือการทดลองปฏิบัติการวิเคราะห์และระบุ/ คัดเลือกเอาวาระภาคประชาสังคม ที่ตนเองสนใจ ไปรณรงค์ให้ผู้มีส่วนได้เสียยอมรับ เพื่อให้วาระของภาคประชาสังคม ได้รับการบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับท้องถิ่น (จังหวัด กลุ่มจังหวัด รัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ) ผ่านกระบวนการกลุ่มของผู้เข้าอบรมและการแนะนำของกระบวนกร/ ผู้ทรงคุณวุฒิ ออกแบบและวางแผนในการรณรงค์ เผยแพร่ แล้วดำเนินการตามแผน ประเมินผลการรณรงค์ และสรุปเป็นรายงานเข้ามานำเสนอในการสัมมนา
1.3 หลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (ยปส.)
คำอธิบายหลักสูตร
หลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (ยปส.) เป็นหลักสูตรสร้างนักยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาสังคม ซึ่งเนื้อหาหลักสูตรนี้จะทำให้ผู้เข้าอบรม ได้รับความรู้และทักษะด้านการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น ประเทศและนานาชาติ ได้รับความรู้ในกระบวนการและกลไกการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดและประเทศ ได้รับความรู้และทักษะการเชื่อมประสานภาคีเครือภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นความสนใจร่วมกันได้ ได้รับความรู้และทักษะการประเมินสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม (assessment) เพื่อนำไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์ และการประเมินผลกระทบยุทธศาสตร์ และมีความสามารถสร้างกระบวนการรณรงค์เชิงนโยบาย (advocate) เพื่อผลักดันสู่นโยบายที่กระทำได้จริงในสังคม
วัตถุประสงค์
-
สร้างเสริมความรู้ (Knowledge) เรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ สังคมโลก และประเทศไทย และพัฒนาการภาคประชาสังคม
-
สร้างทักษะ (Skill) ในการวิเคราะห์ วางแผน การติดตาม ประเมิน รณรงค์ และมีกระบวนการดำเนินกิจกรรมอันเป็นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (Social responsibility)
-
สร้างทัศนะ (Attitude) ทีดี ยอมรับ เห็นคุณค่า การทำงานของภาคประชาสังคม และก่อรูปจิตสำนึกสาธารณะในการเป็นผู้นำภาคประชาสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง
โครงสร้างหลักสูตร
1) ผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้และความเข้าใจรูปแบบการเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับตนเอง และได้รับการสร้างเสริมภาวะผู้นำ การบริหารความขัดแย้งและวิธีการจูงใจคนและการเจรจาโน้มน้าว การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) และสอนงาน (Coaching) อย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ และส่งเสริมภาวะผู้นำในองค์กร
2) พลวัตเศรษฐกิจโลก ภูมิภาค ประเทศ และท้องถิ่น ผู้เข้าอบรมจะได้ศึกษาสถานการณ์ของโลกปัจจุบันที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม ของภูมิภาค ประเทศและท้องถิ่น เช่น การค้าเสรี การละเมิดสิทธิมนุษยชนและแนวคิดอื่น ๆ เช่น เสรีนิยมใหม่ แนวคิดท้องถิ่นจัดการตนเอง การกระจายอำนาจ และการเคลื่อนไหวทางด้านต่าง ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและสุขภาพ เป็นต้น
3) เครื่องมือสำหรับประเมินภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าอบรมจะได้ทำความเข้าใจและมีทักษะในการนำเครื่องมือหรือตัวชี้วัดเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม เช่น เครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment) การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment) ตัวชี้วัดธรรมาภิบาลจังหวัด (Provincial Government Index) เป็นต้น
4) การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียและการประสานพลังเครือข่าย ผู้เข้าอบรมจะมีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder analysis) ทั้งภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน และประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านพัฒนาร่วมกันทุกฝ่าย นอกจากนี้ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เทคนิคและศิลปะในการสื่อสารใหม่ ๆ เพื่อสานพลังเครือข่ายให้เกิดความเข้าใจระหว่างผู้มีส่วนได้เสียและเครือข่ายต่าง ๆ เช่น Social online network หรือ Mobile application
5) กระบวนการและกลไกในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผู้เข้าอบรมจะได้ศึกษากระบวนการ/ กลไกการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนระดับชาติ และระดับจังหวัด เพื่อให้ภาคประชาขนสามารถเข้าถึงกระบวนการนำเสนอวาระของภาคประชาชนไว้ในยุทธศาสตร์และแผนระดับประเทศ จังหวัด และกลุ่มจังหวัด นอกจากนั้นผู้เข้าอบรมจะได้ศึกษาเครื่องมือในกำหนดนโยบายและการติดตามนโยบายในระดับต่าง ๆ เช่น บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน ธรรมนูญพลเมือง เป็นต้น
6) การรณรงค์เชิงนโยบายระดับท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ ผู้เข้าอบรมจะได้ฝึกวิเคราะห์และระบุวาระทางสังคมที่ตนเองสนใจ เพื่อออกแบบและวางแผนในการรณรงค์ผ่านกระบวนการกลุ่มและการแนะนำของกระบวนกร ผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วนำไปดำเนินการรณรงค์เผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสียยอมรับตามแผนเพื่อให้วาระของภาคประชาสังคมได้รับการบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับท้องถิ่น (จังหวัด กลุ่มจังหวัด รัฐบาล ท้องถิ่นต่าง ๆ) และประเมินผล สรุปผลการรณรงค์เป็นรายงานนำเสนอในการสัมมนา
1.4 หลักสูตรค่ายผู้นำรุ่นใหม่หัวใจเพื่อสังคม (Youth Leader Camp)
คำอธิบายหลักสูตร
การแก้ไขปัญหาสังคมต้องการพลังจากคนรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นพลัง “คนหนุ่มสาว” ที่จะแบกรับและขับเคลื่อนสังคมไปสู่ข้างหน้าในฐานะ “ผู้นำรุ่นใหม่ภาคประชาสังคม” การเติมพลังความมุ่งมั่นสู่คนรุ่นใหม่ให้มี “จิตสาธารณะ” รับใช้สังคม จึงเป็นภารกิจของคนผู้นำประชาสังคมรุ่นปัจจุบัน (CSOs Leaders) ได้ช่วยกันพัฒนาศักยภาพผู้นำรุ่นในอนาคต (Future Leaders)ให้มีคุณภาพและเป็นพลังสำคัญของสังคม
ค่ายคนรุ่นใหม่หัวใจเพื่อสังคม จึงเน้นเนื้อหาการสร้างสำนึกจิตสาธารณะ ควบคู่ไปกับเรียนรู้ปัญหาของโลกและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และมีส่วนร่วมในการคิด-เขียน-แลกเปลี่ยน-สรุป และการสื่อสารที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
-
เรียนรู้อุดมการณ์ จิตอาสาและ มีภาวะผู้นำที่เอื้อต่อการพัฒนาสังคม
-
เรียนรู้แนวคิดและการพัฒนาของโลก สังคม และท้องถิ่นของตนเอง
-
เรียนรู้การพูด การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
-
เรียนรู้เพื่อนมิตรและสร้างเครือข่ายทางสังคม หนุนช่วยซึ่งกันและกัน
โครงสร้างหลักสูตร
1) การรู้จักตนเอง เข้าใจคนอื่น “รู้จักตนเอง เข้าใจคนอื่น เคารพคนอื่น สร้างเพื่อนมิตรในการเรียนรู้ร่วมกัน” มีรูปแบบเป็นวงสนทนาสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกา เป้าหมาย และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมมีโอกาสทำความรู้จักตัวเองและผู้อื่นให้มากขึ้น สามารถมองเห็นสภาพปัญหา และความหลากหลายของสังคม เกิดความเคารพต่อผู้อื่น และสามารถตั้งคำถามที่ลงลึกต่อตนเอง และความหมายของชีวิต เห็นความสำคัญของการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ
2) เรียนรู้โลกและสังคม “วิเคราะห์โลกา (ภิวัตน์) เข้าถึงการพัฒนา และจัดการด้วยสันติวิธี” ทำความเข้าใจสถานการณ์โลก และโครงสร้างทางสังคม การเปลี่ยนผ่าน ผลกระทบทางสังคมและชุมชน มองเห็นรากเหง้าของปัญหาและได้เรียนรู้การจัดการปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม
3) เรียนรู้เพื่อนมิตรจิตอาสาพัฒนาสังคม “เรียนรู้เพื่อนมิตรจิตอาสา ภาคชุมชน ประชาสังคมผู้นำพาสังคมสู่การเปลี่ยนแปลง” คนรุ่นใหม่จะได้ไปเรียนรู้องค์กรภาคประชาสังคม ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้นำประชาสังคมและพื้นที่ (Area) หรือประเด็น (Issue) ทำงานของเขา เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม คนไร้บ้าน เอชไอวี เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ เป็นต้น และพื้นที่เหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้ออกไปรับใช้สังคม
4) การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม “สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ด้วยศิลปะและนวัตกรรมนำสู่การเปลี่ยนแปลง” เปิดโอกาสให้ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยการสื่อสารที่สร้างสรรค์ที่ตนเองถนัด ทั้งการพูด เล่าเรื่อง รวมทั้งเรื่องละคร เกมส์ การสื่อสารผ่าน Social Media ฯลฯ และวางแผนการสื่อสาร
5) ถอดความรู้และสู่การเปลี่ยนแปลง “ถอดบทเรียนการเรียนรู้ บทเรียนชีวิตร่วมกัน และวางแผนการสื่อสารสู่เพื่อนและสังคม” ทบทวนแลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ตลอดระยะเวลาแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน และสะท้อนความคิดเห็นให้ทีมผู้จัดได้ทบทวนกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการออกแบบให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ในอนาคต