วิสัยทัศน์
ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ (ศปส.) จะเป็นสถาบันที่อุทิศให้กับการสร้างคุณภาพผู้บริหารและระบบการจัดการในองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ทั้งในประเทศไทยและในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การจัดการองค์กรที่อยู่นอกรัฐ และไม่ใช่องค์กรทางธุรกิจ (องค์กรไม่แสวงหากำไร) ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม ในการบริการสาธารณะ และเป็นการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและความอยู่ดีมีสุขของทุกคน
“ประชาสังคมร่วมภาคี สร้างพื้นที่สังคม มุ่งสู่ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และยั่งยืน”
พันธกิจ
ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ (ศปส.) มีพันธกิจ 3 ด้านดังนี้
- การพัฒนาศักยภาพให้แก่องค์กรประชาสังคม
เพื่อให้ภาคประชาสังคมเข้าร่วมกับภาคีหุ้นส่วนอื่นๆ ได้แก่ภาครัฐ และภาคธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ศปส. จะพัฒนาศักยภาพให้แก่ภาคประชาสังคมในด้านต่างๆ อย่างเช่น การจัดการโครงการ การจัดการองค์กร การจัดการด้านการเงินสำหรับองค์กรขนาดเล็ก ผู้นำยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลง การรณรงค์เชิงนโยบาย โดยการพัฒนาศักยภาพเหล่านี้ อาจจะอยู่ในรูปของโครงการฝึกอบรม หรือเป็นการออกแบบกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพเฉพาะองค์กร (customize) การให้คำปรึกษาแนะนำ นอกจากนั้น ศปส. จะร่วมมือกับหลักสูตรในคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ตามนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงผ่านงานวิจัย
ศปส. ได้ประโยชน์จาก “ทุนมนุษย์” ของมหาวิทยาลัย ที่มีผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะในทางวิชาการและการวิจัยสาขาวิชาต่างๆ และสามารถระดมเพื่อตอบสนองความต้องการในการสร้างความเติบโตให้แก่ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการใช้งานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการเข้าร่วมของภาคประชาสังคมในกิจการสาธารณะ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในด้านนี้ ศปส. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ โครงการ Together (USIAD) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute) EU. MEKONG ROK COOPERATION FUND (MKCF)เป็นต้น
- การสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่าย
การเข้าร่วมของภาคประชาสังคมในกิจการสาธารณะ และการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ในการสร้างความร่วมมือนี้ จำเป็นต้องมี “แพลทฟอร์ม” หรือพื้นที่ ที่เอื้ออำนวยให้ภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสานงาน ตลอดจนการสร้างวาระร่วมของสังคม เพื่อนำไปผลักดัน ศปส. ตระหนักถึงความสำคัญของ “ความร่วมมือ” เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง